ต้นกำเนิด: กลุ่มปัญญาชนปารีส ของ เขมรแดง

ซาลอธ ซาร์ (พล พต)เอียง ซารีเขียว สัมพัน (ซ้าย) ถ่ายคู่กับเจ้าสีหนุ (ขวา)ซอน เซน

กลุ่มปัญญาชนปารีส (Paris Student Group) คือ กลุ่มนักศึกษาฝ่ายซ้ายชาวกัมพูชา ที่ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลกัมพูชาให้มาศึกษาต่อในกรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส ในช่วงทศวรรษที่ 1950 พวกเขาได้ร่วมกันจัดตั้งขบวนการคอมมิวนิสต์ ลัทธิมาร์กซิสต์-เลนินนิสต์ของตนเองขึ้น ก่อนที่จะเดินทางกลับสู่แผ่นดินเกิดและเป็นกำลังสำคัญของพรรคคอมมิวนิสต์เขมร กลุ่มเขมรแดง ในการปฏิวัติล้มล้างรัฐบาลลอน นอล ใน พ.ศ. 2518 ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งระบอบกัมพูชาประชาธิปไตยในเวลาต่อมา

ปัญญาชนคนสำคัญที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าวนี้ ได้แก่[12]

  • เขียว สัมพัน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2474 ได้รับการศึกษาจากวิทยาลัยศรีสวัสดิ์เช่นกัน มีความเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์อย่างมาก คู่แข่งทางพรสวรรค์ของเขา คือ ฮู ยวน นักศึกษาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มปัญญาชนปารีสอีกคนหนึ่ง ฮู ยวน เกิดเมื่อ พ.ศ. 2473 ศึกษาต่อทางด้านเศรษศาสตร์และกฎหมายในฝรั่งเศส ทั้งเขียว สัมพันธ์ และฮู ยวน ต่างสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยปารีสเหมือนกัน
  • ฮู นิม เกิดเมื่อ พ.ศ. 2475 เดินทางไปศึกษาต่อและสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีทางด้านกฎหมายในฝรั่งเศส และสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยพนมเปญ เขามีความสนใจในเรื่องบทบาทการเงินของกัมพูชาที่ถูกภายนอกครอบงำ

นอกจากสมาชิกที่เป็นผู้ชายแล้ว ในกลุ่มปัญญาชนปารีสยังมีสมาชิกผู้หญิงที่มีความสัมพันธ์ทางการสมรสกับสมาชิกฝ่ายชายอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น เขียว พอนนารี ภรรยาของซาลอธ ซาร์ เขียว ธิริธ ภรรยาของเอียง ซารี หรือยุน ยาต ภรรยาของซอน เซน สมาชิกหญิงเหล่านี้ต่างก็มีบทบาทสำคัญในระบอบการปกครองกัมพูชาประชาธิปไตย ที่เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติของเขมรแดง แทบทั้งสิ้น

สาเหตุที่ทำให้คนหนุ่มสาวกลุ่มนี้เชื่อมั่นในลัทธิคอมมิวนิสต์ มีแนวโน้มมาจากบริบททางการเมืองโลกในขณะนั้น ที่การเคลื่อนไหวตามแนวทางคอมมิวนิสต์กำลังเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมและถูกนำมาใช้อย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น การยืนหยัดต่อสู้ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในกัมพูชาต่อฝรั่งเศสในฐานะเจ้าอาณานิคม การได้รับชัยชนะของลัทธิคอมมิวนิสต์ในจีน การเผชิญหน้ากันระหว่างฝ่ายคอมมิวนิสต์และฝ่ายต่อต้านคอมมิวนิสต์ในเกาหลี หรือการเข้าสู่ยุครุ่งเรืองสูงสุดของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศส เป็นต้น นอกจากนั้นแล้ว ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับความไม่เสมอภาคทางชนชั้นและความไม่เป็นธรรมในสังคมที่นักศึกษาบางคนประสบในอดีต ก็อาจเป็นสาเหตุสำคัญเช่นกัน ดังเช่นกรณีปัญหาครอบครัวของเขียว พอนนารี และเขียว ธิริธ ที่บิดาของเธอทั้งสองหนีตามเจ้าหญิงแห่งกัมพูชาไปอยู่จังหวัดพระตะบอง ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทิ้งให้มารดาของพวกเธอทำหน้าที่ดูแลครอบครัวเพียงผู้เดียว กรณีดังกล่าวนี้ เดวิด พี. แชนด์เลอร์ นักประวัติศาสตร์และนักการทูตชาวอเมริกัน กล่าวว่า อาจเป็นสาเหตุสำคัญให้พวกเธอมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อชนชั้นเจ้าของกัมพูชา จนนำไปสู่การต่อต้านก็เป็นได้[13]

ขณะที่ศึกษาอยู่ในฝรั่งเศส กลุ่มปัญญาชนกลุ่มนี้ได้มีโอกาสศึกษาสำนักคิด/ลัทธิทางด้านสังคมศาสตร์หลาย ๆ แขนง เช่น ลัทธิสังคมนิยม ลัทธิชาตินิยม ลัทธิคอมมิวนิสต์ ลัทธิต่อต้านจักรวรรดินิยม และลัทธิอาณานิคมใหม่ เป็นต้น[14] พร้อมกันนั้น พวกเขายังได้ประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับลัทธิคอมมิวนิสต์เอาไว้หลายระดับ นับตั้งแต่การรวมกลุ่มการเมืองย่อย ๆ ในหมู่นักศึกษา ที่เรียกกันว่า “วงมาร์กซิสต์” เพื่อนำงานเขียนแนวอุดมการณ์มาร์กซิสต์มาถกเถียงกัน[15] จนถึงการเข้าร่วมเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ฝรั่งเศสและพรรคคอมมิวนิสต์ยูโกสลาเวีย และยังรวมไปถึงการเป็นตัวแทนสมาคมนักศึกษาเขมรในกรุงปารีส เข้าร่วมการประชุมเยาวชนนานาชาติ ณ เบอร์ลินตะวันออก ที่ซึ่งพวกเขาได้พบเจอเพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน และได้เรียนรู้วิธีการต่อสู้ของขบวนการคอมมิวนิสต์ในกัมพูชา และการก่อตั้งพรรคปฏิวัติประชาชนเขมรเป็นครั้งแรก[16]

นอกจากนั้น พวกเขายังพยายามขยายอุดมการณ์ของกลุ่มให้ครอบคลุมทั้งสมาคมนักศึกษาเขมร ซึ่งเป็นแหล่งรวมปัญญาชนชาวกัมพูชาส่วนใหญ่ในปารีส ด้วยการล้มล้างอิทธิพลของผู้นำนักศึกษาแนวอนุรักษนิยม[17]และเปลี่ยนให้กลายเป็นองค์กรสำหรับนักชาตินิยมและนักสังคมนิยมแทน

หลังจากที่เจ้าสีหนุก่อรัฐประหาร ประกาศยุบสมัชชาแห่งชาติ และเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของกัมพูชา ใน พ.ศ. 2495[18] กลุ่มปัญญาชนปารีสก็เคลื่อนไหวต่อต้านการกระทำดังกล่าว ด้วยการออกแถลงการณ์วันที่ 6 กรกฎาคม ประณามการกระทำของพระองค์และเรียกร้องให้พระองค์สละราชสมบัติ[19] พร้อมกันนั้น ซาลอธ ซาร์ ยังได้เขียนบทความชื่อ “ราชาธิปไตยหรือประชาธิปไตย?” (Monarchy or Democracy?) ลงในนิตยสารสำหรับนักศึกษาชาวกัมพูชา ฉบับพิเศษ เพื่อวิพากษ์การกระทำของเจ้าสีหนุอีกด้วย จากการกระทำเหล่านี้ ส่งผลให้พวกเขาโดนระงับทุนการศึกษา[20] และทางการฝรั่งเศสยังออกคำสั่งปิดสมาคมนักศึกษาเขมรในปีต่อมา

อย่างไรก็ตาม ใน พ.ศ. 2499 ฮู ยวน และเขียว สัมพันธ์ ได้ช่วยกันก่อตั้งกลุ่มใหม่ขึ้นมา โดยใช้ชื่อว่า “สหภาพนักศึกษาเขมร” (Khmer Students' Union) ซึ่งดำเนินการโดยกลุ่มนักศึกษาในวงมาร์กซิสเช่นเดิม

แหล่งที่มา

WikiPedia: เขมรแดง http://www.bangkokbiznews.com/2006/07/21/g006_1223... http://www.bflybook.com/BookDetail.aspx?CategoryID... http://www.economist.com/world/asia/displaystory.c... http://jim.com/canon.htm http://www.matichonbook.com/index.php/matichonbook... http://www.sanskritbook.com/FntProductAction.do?me... http://www.timeout.com/film/people/345671/vann-nat... http://www.cambodia.gov.kh/krt/english/ http://www.eccc.gov.kh/ http://www.edwebproject.org/sideshow/